วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เก็บมาคิด : แสงส่องทางจากการศึกษา
ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมานี้ หากใครให้ความสังเกตมากหน่อยจะพบว่า การศึกษาได้เข้าไปในระดับของ “ชนชั้นกลางที่ลงมาถึงระดับชั้นล่าง” มีทัศนคติ และให้ความสำคัญกับการศึกษาต่อลูกหลานมากขึ้น โดยจะเห็นว่า คนในระดับชั้นดังกล่าว จะทุ่มเทเงินทอง (ที่ไม่ค่อยจะมีมากนัก) ให้กับการเล่าเรียนของลูกหลานมากขึ้นกว่า ในช่วงก่อนหน้า ที่พวกเขา มักจะอ้างว่า “ไม่มีเงินพอที่จะส่งให้ลูกเรียนสูงๆ จึงไม่ให้ความสนใจต่อการศึกษาของลูกหลานเท่าที่ควร” แต่ปัญหากลับพอกพูนอยู่ตัวของเด็ก ซึ่งยังมองไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาเท่าที่ควร เพราะขนาดพ่อแม่ทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ เพื่อหาเงินส่งให้ลูกเรียน แต่ลูกหลานกลับทำตัวไร้ค่า แทนที่จะตั้งใจเรียนหนังสือ แต่กลับทำตัวเลอะเทอะ มั่วสุมอยู่ในสังคมที่เลวร้าย เกเร เสพยา มั่วสุมทางเพศ ระดับการเรียนไม่ดีขึ้นเลย และเด็กในกลุ่มพวกนี้เอง ที่กลายเป็นปัญหาของสังคม ที่ปรากฏอยู่เนืองๆ ทั้งในเรื่องของพฤติกรรม และการมีลูกในวัยเด็ก ความน่าเห็นใจ จึงตกอยู่กับพ่อแม่ที่ยอมเหนื่อยสายตัวแทบขาดที่หาเงินส่งเสียให้ลูกหลานได้มีวิชาความรู้เพื่ออนาคตของตัวเอง แต่พวกเขากลับไม่พบกับความสำเร็จ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการหาเงินจนไม่มีเวลาที่จะดูแล ควบคุม และอบรมสั่งสอนให้ลูกหลานมองเห็นความสำคัญของการศึกษา จนแทบจะเรียกได้ว่า ในจำนวนคนกลุ่มดังกล่าวนี้ ลูกหลานที่มองเห็นความสำคัญของการศึกษา จะมีไม่เกินสามในสิบคนเท่านั้น ซึ่งหากมองถึงความตั้งใจจริงของคนในระดับชั้นดังกล่าว ที่มองเห็นความสำคัญของการศึกษามากขึ้น แต่ต้องมาสวนทางกับเวลาที่ตัวเองต้องขวนขวายหาเงิน เรื่องนี้ น่าที่ภาครัฐ ควรจะหาทางให้ความช่วยเหลือคนในกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ด้วยกลยุทธ์หลากหลายที่ภาครัฐมีอยู่ หาทางเป็นหูเป็นตา หรือปิดกั้นความเหลวแหลกของสังคมวัยรุ่นให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เกี่ยวกับเรื่องของความเอาใจของบรรดาพ่อแม่ ที่ปรารถนาจะปลูกฝังให้ลูกหลานมีการศึกษาติดตัวต่อไปในอนาคต จนยอมทุ่มเทความเหนื่อยยากหาเงินส่งเสียให้ลูกเรียน หากเรามองในด้านของภาคเอกชนที่เกี่ยวกับการกวดวิชาหรือเรียนพิเศษ จะพบข้อมูลยืนยันได้จากหลายส่วน อาทิ... จากด้านครู อริสรา ธนาปกิจ หรือที่เด็กเรียกกันว่า “ครูพี่แนน” ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ ได้กล่าวให้ความเห็นถึงการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาทั้งในแง่มุมของคุณครูว่า ในปัจจุบันการแข่งขันของเด็กยุคนี้มีค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะตั้งแต่เด็กอนุบาล ไปจนถึงมหา’ลัย ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมให้น้องๆ มีความรู้ ความสามารถจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่พ่อแม่จะส่งเสริมให้เด็กพัฒนาความศักยภาพในตัวเองให้ออกมาได้มากที่สุด ช่วยวางแผนและตั้งเป้าหมายในชีวิต แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยเป็นแรงผลักดันให้น้องก้าวไปสู่ความสำเร็จคือ กำลังใจจากพ่อแม่ และครอบครัว ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันให้เด็กๆ ก้าวในสู่ความสำเร็จนั้นได้ นี่คือ ข้อยืนยันให้เห็นว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ พร้อมที่จะยอมเสียเงินเพิ่มให้ลูกหลานได้เข้าเรียนพิเศษเพื่อเพิ่มพูนความรู้ของตัวเองให้มากขึ้นกว่าการได้เรียนในห้องเรียน อันเป็นการสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพให้ได้เรียนในสิ่งที่ฝัน หรืออีกหนึ่งคำยืนยันของคุณแม่ของน้องหญิง โรงเรียนวิสุทธรังษี ที่เปิดเผยว่า น้องหญิงต้องเดินทางมาจากกาญจนบุรีทุกสัปดาห์เพื่อมาเรียนที่กรุงเทพฯ ซึ่งตนมองว่าการให้ลูกเดินทางมาเรียนถือเป็นการฝึกความรับผิดชอบของลูกอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้การที่จะเรียนอะไร อยากเพิ่มเติมตรงส่วนไหน ตนให้โอกาสลูกได้เลือกด้วยตัวเองก่อน แล้วค่อยมาช่วยดูเรื่องความน่าเชื่อถือ และจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายให้ทีหลัง จึงมั่นใจได้ว่าลูกได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน และสามารถเรียนได้อย่างเต็มตามความสามารถ ไม่ได้ก่อภาระหรือทำให้เครียดกับการเรียนจนเกินไป และคุณแม่น้องฝ้าย ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการเรียนของเด็กไทยในปัจจุบันอีกว่า การเรียนกวดวิชาสำหรับแม่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป การแข่งขันในการเรียนและการทำงานสูงขึ้น การมาเรียนกวดวิชาจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ลูกเข้าใจบทเรียน และเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง ถือเป็นการย้ำบทเรียนอีกครั้ง อีกอย่างคือวิธีการเรียนรู้ของคนเราต่างกัน บางคนอ่านหนังสือแล้วเข้าใจ บางคนแค่เรียนในห้องเรียนได้เข้าใจ ขณะที่บางคนต้องเรียนย้ำหลายๆ รอบ ซึ่งการมีคุณครูที่เก่ง มีเทคนิคการจำการเรียนที่ดีจะช่วยให้ลูกเราเข้าใจได้ดีขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ ยืนยันให้แน่ชัดว่า ความสำคัญของการศึกษาก้าวล้ำเข้าไปสู่เจตนคติ และค่านิยมของพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้นในทุกระดับชนชั้น แต่วุฒิทางปัญญา หรือ จิตสำนึกของเยาวชนที่มีต่อการศึกษา ยังมีเด็กไทยอีกไม่น้อยที่ยังมืดบอดมองไม่เห็นคุณค่าทางด้านการศึกษา เรื่องนี้ เราต้องแก้ที่คน หรือว่าระบบการบริหารประเทศ?
ชนิตร ภู่กาญจน์ ที่มา: http://www.naewna.com
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.kroobannok.com/article-79118-แสงส่องทางจากการศึกษา.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น